Past Present & Tomorrow22 Oct 2021

“รักษ์” ฉลามกบ นักล่าหน้าทารกแห่งท้องทะเลไทย

 
Copied to clipboard.

ฉลามเป็นนักล่าที่เก่งกาจแห่งท้องทะเล พวกมันอาศัยอยู่บนโลกนี้มานานกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมทั้งไดโนเสาร์และมนุษย์ นักล่าที่ชาญฉลาดอย่างปลาฉลามอาจจะดำรงเผ่าพันธุ์มาแล้วหลายร้อยล้านปี แต่ขณะนี้พวกมันกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่เผ่าพันธุ์ของมันถือกำเนิดขึ้นบนโลกใบนี้

ในประเทศไทยมีปลาฉลามทั้งสิ้น 87 สายพันธุ์ ล่าสุดข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (International Union for Conservation of Nature/ IUCN) พบว่าปลาฉลามจำนวนมากกว่า 44  สายพันธุ์ทั่วโลก อยู่ในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น (IUCN Red List) เพราะมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และหนึ่งในนั้นมีปลาฉลามกบ นักล่าตัวเล็กแห่งท้องทะเลรวมอยู่ด้วย

ปลาฉลามกบ (Brown-banded Bamboo Shark) เป็นปลาฉลามขนาดเล็ก ลูกฉลามกบมีลำตัวสีดำเข้มและมีแถบสีอ่อนขวางลำตัวเป็นปล้อง ๆ สีดำสลับสีขาวเหมือนลวดลายของม้าลาย ทำให้พวกมันดูเหมือนปลาในการ์ตูนมากกว่าปลาจริง ๆ ที่ว่ายน้ำอยู่ในท้องทะเล เมื่อโตเต็มวัยปลาฉลามกบจะมีลำตัวยาวเพียงประมาณ 70-120 เซนติเมตรเท่านั้น

รูปร่างและนิสัยของปลาฉลามกบแตกต่างจากปลาฉลามสายพันธุ์อื่นอย่างสิ้นเชิง พวกมันไม่ดุดันเหมือนพวกปลาฉลามเสือ ฉลามขาว หรือฉลามสีน้ำเงิน ในทางกลับกันฉลามกบเป็นปลาที่ไม่ทำร้ายคน ในเวลากลางวันพวกมันชอบอยู่นิ่ง ๆ เหนือพื้นทรายตามแนวปะการังในเขตน้ำขึ้น-ลงแถบฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน และจะปราดเปรียวว่องไวในช่วงออกล่าหาอาหารในเวลากลางคืน  ลักษณะเด่นของฉลามกบคือมีส่วนหัวและลำตัวใหญ่ จะงอยปากกว้าง มีส่วนหางที่ยาวเป็นพิเศษ  ฉลามกบไม่มีลิ้นไว้ตวัดเหยื่อลงกระเพาะ แต่มีกล้ามเนื้อปากทรงพลังที่สามารถดูดเหยื่อลงท้องได้สบาย ๆ 

ฉลามกบจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักล่าขนาดเล็กที่สุดแห่งมหาสมุทร พวกมันเป็นสมาชิกที่สำคัญของท้องทะเล เพราะทำหน้าที่เป็นผู้ล่าบนหน้าดิน ในยามค่ำคืนนักล่าหน้าเด็กจะออกว่ายหาเหยื่อตามแนวปะการัง เพื่อจับหอย กุ้ง กั้ง ปูเป็นอาหาร ถือเป็นการควบคุมปริมาณสัตว์น้ำขนาดเล็กให้สมดุลกับระบบนิเวศ

ถึงแม้ฉลามกบจะไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์สงวนและคุ้มครอง รวมถึงไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย แต่ข้อมูลของไอยูซีเอ็นระบุว่าปลาฉลามกบอยู่ในข่ายกลุ่มชนิดพันธุ์ที่ใกล้ถูกคุกคามในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น (IUCN Red list: NT-Near Threatened)  สาเหตุใหญ่เนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเลและการประมงสมัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์และการอยู่รอดของปลาฉลามกบ 

ปลาฉลามกบขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ ซึ่งต่างจากปลาฉลามส่วนใหญ่ที่ออกลูกเป็นตัว หลังจากที่ฉลามกบตัวเมียผสมพันธุ์แล้ว แม่ฉลามจะวางไข่ครั้งละประมาณ 2-6 ฟอง ยึดเกาะไว้กับปะการัง สาหร่ายและวัสดุตามหน้าดินใต้ท้องทะเล ไข่ฉลามกบแต่ละฟองจะอยู่ในถุงไข่ทรงสี่เหลี่ยมที่เรียกกันว่า กระเป๋านางเงือก (a mermaid’s purse) หน้าตาของถุงไข่หรือกระเป๋านางเงือกจะมีลักษณะคล้าย ๆ พาสต้าราวิโอลี มีหน้าที่คอยห่อหุ้มป้องกันตัวอ่อนที่อยู่ด้านใน มุมทั้งสี่ด้านของกระเป๋านางเงือกจะมีหนวดเส้นเล็ก ๆ ยื่นออกมายึดเกาะกับปะการัง สาหร่ายและวัสดุตามหน้าดินใต้ท้องทะเล เพื่อป้องกันไข่ฉลามจากการโดนกระแสน้ำพัดพาไปที่อื่น ถุงไข่หรือกระเป๋านางเงือกนี้ยังทำหน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งเพื่อความอยู่รอดของตัวอ่อนของฉลามกบ คือ ทำหน้าที่พรางตาพร้อมปกปิดกลิ่นและความเคลื่อนไหวของตัวอ่อนฉลามจากสัตว์ผู้ล่าอื่น ๆ เมื่อตัวอ่อนเติบโตได้ระยะหนึ่งขอบด้านล่างของถุงไข่จะอ่อนตัวลงและค่อย ๆ เปิดออก เมื่อตัวอ่อนแข็งแรงพอที่จะออกไปหากินเองได้ พวกมันจะพากันว่ายออกจากถุงไข่ ไข่ฉลามจะฟักตัวได้ดีในน้ำทะเลที่อุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส จากการศึกษาพบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นกว่าปกติ และค่า pH ของน้ำทะเลที่ต่ำจนเป็นกรด ทำให้อัตราการรอดชีวิตของลูกฉลามกบลดลง 

นอกจากนี้ ฉลามกบมักโชคร้าย “ติดร่างแห” ไปกับอวนของชาวประมงที่เน้นการจับปลาเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามต่อจำนวนประชากรของฉลามกบ จนทำให้เข้าไปอยู่ในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น วันนี้ความเสี่ยงของฉลามกบอาจจะอยู่ในกลุ่มชนิดพันธุ์ที่ใกล้ถูกคุกคามของไอยูซีเอ็น แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลและปกป้องให้พ้นจากความเสี่ยงและภัยคุกคามต่าง ๆ  ในอนาคตอันใกล้ฉลามกบ นักล่าหน้าเด็กแห่งท้องทะเลอาจสูญพันธุ์เหมือนไดโนเสาร์

อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของปลาฉลามกบไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด ในวันนี้นักวิจัยไทยประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาฉลามกบ และสามารถนำตัวอ่อนไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลก่อนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทุกคน ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ นักท่องเที่ยว ตลอดจนคนท้องถิ่นได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ฉลามกบนักล่าตัวเล็กแห่งท้องทะเล

 
ล่าสุด บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำโครงการการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากกลุ่มปลาฉลาม ด้วยการสร้างสถานที่เพาะพันธุ์ฉลามกบเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่โรงแรมทราย พีพี ไอส์แลนด์ วิลเลจ (SAii Phi Phi Island Village) เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ 

การเพาะพันธุ์ฉลามเพื่อคืนสู่ธรรมชาติเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะปลาฉลามมีความหลากหลายมากทั้งด้านกายภาพ ถิ่นที่อยู่ และความอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ฉลามบางสายพันธุ์ออกลูกเป็นตัว บางสายพันธุ์ออกลูกเป็นไข่ บางสายพันธุ์ออกลูกเป็นไข่แต่ฟักในตัวแม่ บางสายพันธุ์ออกลูกเป็นตัวเหมือนกับพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และมีบ้างที่ฉลามตัวเมียออกลูกเองโดยที่ไม่มีพ่อและลูกได้รับลักษณะทางพันธุกรรมของแม่ 

ปลาฉลามส่วนใหญ่ใช้เวลา 9 ถึง 12 เดือนในการตั้งท้อง แต่บางสายพันธุ์ เช่น ปลาฉลามหนู (Greeneye Dogfish) เคยมีการบันทึกว่าใช้เวลาในการตั้งท้องนานถึง 31 เดือน นอกจากนี้ลูกฉลามโตช้า และใช้เวลานานกว่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ บางสายพันธุ์ที่โตช้ามากๆ เช่น ฉลามกรีนแลนด์ (Greenland Shark) มีอายุยืนยาวถึง 400 ปี และถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 150 ปี นอกจากนี้ วัฏจักรการสืบพันธุ์ของปลาฉลามที่ออกลูกเป็นตัวและออกลูกเป็นไข่ก็แตกต่างกันโดยมีลักษณะพื้นฐาน 3 แบบ คือ มีการสืบพันธุ์ตลอดทั้งปี มีการสืบพันธุ์แต่ละรอบปี และมีการสืบพันธุ์ปีละครั้งหรือสองปีต่อหนึ่งครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การศึกษาวิจัยเรื่องชีววิทยาการสืบพันธุ์ของปลาฉลามเพื่อเพาะพันธุ์ฉลามนั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนได้ทำการศึกษาทดลองและสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาฉลามกบชนิด Brown-banded Bamboo Shark (Chiloscyllium punctatum) ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2544 ทำให้มีการขยายผลต่อยอดจนในปัจจุบันประเทศไทยสามารถนำลูกฉลามกบจากการแหล่งเพาะเลี้ยงคืนกลับสู่ท้องทะเลได้

การปล่อยฉลามจากแหล่งเพาะเลี้ยงสู่แหล่งที่อยู่ในธรรมชาติเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล เพราะหากปล่อยฉลามซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติในจำนวนที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องคำนึงถึงพื้นที่และวิธีการปล่อยเพื่อให้ลูกปลาฉลามจากแหล่งเพาะเลี้ยงมีโอกาสรอดชีวิตในสภาพธรรมชาติจนสามารถเติบโตเป็นฉลามเต็มวัยและแพร่พันธุ์ได้ตามธรรมชาติในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น ขั้นตอนการปล่อยลูกฉลามกบคืนสู่ธรรมชาตินั้นต้องให้นักดำน้ำนำตะกร้าใส่ลูกฉลามดำดิ่งสู่ก้นทะเล เพื่อนำไปปล่อยบริเวณหน้าดินใต้ท้องทะเล ที่มีปะการังและพืชน้ำให้ลูกฉลามได้หลบซ่อนตัวจากสัตว์ผู้ล่าอื่น ๆ เพื่อให้พวกมันมีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่าการปล่อยที่บริเวณผิวน้ำ 

ในปัจจุบันนักชีววิทยาทางทะเลต่างหันมาตั้งความหวังให้กับการผสมเทียมปลาฉลามเพื่อเพิ่มโอกาสในการเพาะพันธุ์ฉลามเพื่อปล่อยสู่แหล่งที่อยู่ในธรรมชาติ จากการศึกษาการผสมเทียมปลาฉลามของนักวิจัยจากพันธมิตรสวนสัตว์เซ้าท์อีสต์เพื่อการสืบพันธุ์และการอนุรักษ์ (South-East Zoo Alliance for Reproduction & Conservation) โดยความร่วมมือกับ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำแห่งแปซิฟิก (Aquarium of the Pacific) สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำริบลีย์สแห่งสโมกกี้ส์ (Ripley's Aquarium of the Smokies) สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำฟลอริด้า (The Florida Aquarium) สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำแอดแวนเจอร์ (Adventure Aquarium) และ พิพิธภัณฑ์ฟิลด์  (Field Museum) พวกเขาจับคู่ให้ปลาฉลามที่อยู่ในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่ร่วมโครงการวิจัย เพื่อสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรม ในการศึกษาครั้งนี้กลุ่มนักวิจัยเน้นทำการผสมเทียมปลาฉลามกบชนิด Whitespotted Bamboo Shark (Chiloscyllium plagiosum) เนื่องจากปลาฉลามกบนิสัยไม่ดุร้าย มีขนาดเล็ก และมีรอบการวางไข่ที่สม่ำเสมอ จึงเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมในการนำมาศึกษาเรื่องการผสมเทียม การผสมเทียมปลาฉลามทำให้ก้าวข้ามปัญหาเรื่องการขนย้ายปลาฉลามตัวเต็มวัยเพื่อนำมาจับคู่กันซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัยของพ่อแม่ปลา รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การผสมเทียมปลาฉลามของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ทำให้สามารถเพาะลูกปลาฉลามได้ถึง 97 ตัว โดยมีลูกฉลามจำนวนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ห่างไกลกันคนละฝั่งของประเทศ 

อย่างไรก็ตามอนาคตของเผ่าพันธุ์ฉลามยังคงไม่แน่นอน ตราบใดที่ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมันยังไม่กลับคืนสู่สมดุล 

พลังเล็ก ๆ ของทุกฝ่ายจากทุกมุมโลกที่มุ่งมั่นทำงานร่วมกัน ช่วยกันคนละไม้คนมือในการร่วมกันอนุรักษ์และสืบเผ่าพันธุ์ปลาฉลาม ร่วมกันลดกิจกรรมคุกคามต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการประมงเกินขนาด มลพิษพลาสติก การปนเปื้อนของสารพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นการช่วยเตรียม “บ้าน” ให้ฉลาม เผ่าพันธุ์นักล่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งท้องทะเล  และนั่นย่อมรวมถึงบ้านของฉลามกบ นักล่าตัวน้อยแห่งท้องทะเลไทยด้วย


อ้างอิง: 

คัดลอกลิ้งค์เก็บไว้ที่คลิปบอร์ดแล้ว

บทความยอดนิยม
Past Present & Tomorrow

 

STAY ON BOARD

Be the first to hear about the latest news, activity, and the sea community.