โครงการติดตามและฟื้นฟูปะการังในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี
การดำเนินการ
- สำรวจและเก็บข้อมูลพื้นที่แนวปะการังบริเวณเกาะยูง โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน
การสำรวจและติดตามแนวปะการังด้วยวิธีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ในประเทศไทยเริ่มต้นในพ.ศ. 2530 โดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นการท่องเที่ยวในแนวปะการังยังมีจำกัด อีกทั้งข้อมูลดาวเทียม/ภาพถ่ายทางอากาศ ตลอดจนวิธีกำหนดพิกัดมีต้องใช้อุปกรณ์ที่มีราคาสูงมาก ทำให้การพัฒนาหยุดชะงักไป
จนมาถึงปัจจุบัน ภาพถ่ายดาวเทียมเป็นที่แพร่หลายและให้รายละเอียดสูง อีกทั้งยังมีโดรนที่สามารถใช้ในการถ่ายภาพทางอากาศ ทีมงานจึงพัฒนาต่อยอดวิธีการสำรวจแบบ Mapping & Monitoring ที่ใช้กันในแนวปะการัง Great Barrier Reef ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับแนวทางการสำรวจและวิเคราะห์เดิม เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้นวัตกรรมยุคใหม่
การดำเนินงานเริ่มจากการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Google EARTH มาใช้ในการทำแผนที่รายละเอียดต่ำ เพื่อกำหนดพื้นที่ขอบเขตแนวปะการัง จากนั้นจึงใช้โดรนถ่ายภาพแนวดิ่ง ที่ระดับความสูง 20 เมตร 50 เมตร และ 100 เมตร ในช่วงเวลาน้ำลงต่ำสุดของปี เพื่อจัดทำแผนที่แนวปะการังในความละเอียดระดับต่าง ๆ และมีการสำรวจภาคสนาม/ดำน้ำที่จัดทำไปพร้อมกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกัน
การสำรวจเน้นที่แนวปะการังน้ำตื้นในเขต Reef Flat เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของแนวปะการัง เป็นพื้นที่ซึ่งเคยมีการใช้ประโยชน์อย่างมากจนอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม และเป็นพื้นที่โผล่พ้นน้ำในช่วงน้ำลงต่ำ ทำให้สามารถดำเนินการได้ง่าย
การวิเคราะห์ผลใช้คอมพิวเตอร์เพื่อต่อภาพในแต่ละบริเวณ แยกสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตออกจากกัน แยกปะการังและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ ก่อนคิดคำนวณพื้นที่ปะการังที่มีชีวิต ตลอดจนสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่มีความสำคัญ
- การปลูกปะการังด้วยวิธี Coral propagation บริเวณอ่าวมาหยา
การปลูก/เคลื่อนย้ายปะการังเพื่อการฟื้นฟูเริ่มในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมา โดยได้พัฒนาเป็นวิธีการแบบต่าง ๆ
เมื่อมีการปิดอ่าวมาหยาเพื่อการฟื้นฟู สิงห์ เอสเตท ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินการเพื่อฟื้นฟูปะการังในพื้นที่ โดยสิงห์ เอสเตท ได้ประยุกต์ใช้วิธีปลูกปะการังทั้งแบบแปะติด (coral propagation) และแบบแปลงกลางน้ำ เพื่อการอนุบาลก่อนนำปะการังที่งอกจนมีขนาดใหญ่ไปวางในพื้นที่
แปลงกลางน้ำสร้างขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากตะกอน เนื่องจากในบริเวณน้ำตื้นมีคลื่นลมทำให้ตะกอนฟุ้งกระจายและตกลงมาทับปะการัง ขณะที่ในน้ำลึกเกินไป แสงส่องลงไปได้น้อย ทำให้ปะการังได้รับแสงไม่เพียงพอ แปลงกลางน้ำจึงช่วยแก้ไขปัญหาทั้งจากตะกอนในน้ำตื้นและแสงน้อยในน้ำลึก โดยลอยแปลงอยู่กลางน้ำในบริเวณนอกแนวปะการัง เป็นเขตน้ำใส ไม่มีตะกอนฟุ้งกระจาย และได้รับแสงพอเหมาะโดยสามารถปรับเปลี่ยนความลึกให้เหมาะสมได้
ทำการย้ายปะการังจากแปลงอนุบาลไปยังพื้นที่อ่าวมาหยาในทุกๆ ต้นเดือน มิถุนายน.-กันยายน พ.ศ.2561 โดยย้ายปลูกบริเวณแนวปะการังทิศเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวมาหยา รวมปะการังที่ย้ายปลูกทั้งสิ้น 500 กิ่ง
ระยะเวลาการศึกษา
1 ปี ตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 - เมษายน พ.ศ. 2562
ผลการศึกษา
ผลการวิเคราะห์พบว่า ภาพถ่ายจากโดรนที่ระดับ 20 เมตร มีรายละเอียดสูงมากจนสามารถแยกสัตว์และนับจำนวนสัตว์บางชนิด เช่น เม่นทะเล ในพื้นที่ทั้งหมด และสามารถแยกปะการังที่มีชีวิตและคำนวณพื้นที่ได้ตรงต่อการสำรวจภาคสนามทุกประการ (Ground Truthing)
การสำรวจทำในหลายระยะเวลา เช่น พ.ศ. 2560-2561-2562 เพื่อทำการเปรียบเทียบภาพถ่ายและพื้นที่ปะการังในแต่ละช่วงเวลา (ในปี พ.ศ. 2563 ติดสถานการณ์โควิด แต่จะดำเนินการเมื่อสามารถทำได้) โดยพบว่าปัจจุบันปะการังที่เกาะยูงมีการขยายพื้นที่มากกว่า 3,000 ตารางเมตร ในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี (ของการเปรียบเทียบ)