Land’s of Tomorrow9 Feb 2021

ป่าพรุโต๊ะแดง ป่าพรุผืนสุดท้ายของประเทศไทย

 
Copied to clipboard.

ป่าพรุ คือบริเวณที่มีความซับซ้อนและหลากหลายทางระบบนิเวศน์ ซึ่งประกอบด้วยระบบต่าง ๆ ที่ธรรมชาติรังสรรค์มาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ที่ประกอบไปด้วยชั้นดินพีต (Peat) ชั้นดินที่อยู่ใต้น้ำ มีลักษณะนุ่มหนาจากการทับซ้อนกันของซากพืชและสัตว์มาอย่างยาวนานกว่า 7000 ปี ที่เหนือขึ้นมามีน้ำที่มีค่ากรดอ๊อกซิเจนต่ำ สาเหตุมาจากการที่น้ำท่วมทั้งปี จึงมีธาตุอาหารน้อย จึงเป็นสาเหตุที่บรรดาพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่เติบโตในบริเวณในพรุเติบโตได้ค่อนข้างช้า ซึ่งในบางบริเวณ พบว่ามีการซ้อนกันของรากต้นไม้ลึกกว่า 5 เมตร

บริเวณดินพีตของป่าพรุนั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดระบบนิเวศน์เฉพาะ หรือการเกิดวิวัฒนาการของพืชและสัตว์ให้เข้ากับระบบนิเวศน์โดยรอบ โดยที่ป่าพรุโต๊ะแดง มีการค้นพบพืชและสัตว์น้ำหลายชนิด ที่หายากและหาได้เพียงไม่กี่ที่ในโลก 

เหนือระดับพื้นดินพีตของป่าพรุแล้ว ในระดับน้ำที่ขังอยู่ทั่วบริเวณป่าพรุนั้น หากมองด้วยตาเปล่า จะเห็นสีของน้ำเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีคล้ายน้ำสนิม ซึ่งเป็นที่อยู่ของปลาชนิดหนึ่ง ที่ชื่อ ปลากะแมะ เป็นหนึ่งในปลาเฉพาะถิ่น ด้วยรูปร่างหน้าตาที่ดูค่อนข้างแตกต่างจากปลาทั่วไป มีหัวโต ปากกว้าง ครีบไม่ใหญ่ ด้วยความที่ผิวของปลากะแมะมีสีเข้ม คล้ายกับซากใบไม้ ทำให้สังเกตได้ยาก จึงมักจะพลางตัวอยู่นิ่ง ๆ กับซากใบไม้คอยล่าเหยื่อ 

เหนือขึ้นมาที่ระดับยอดไม้ มักพบเจอพันธุ์นกหายากคือ นกเงือกดำ เป็นนกเงือกขนาดเล็ก และยังเป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิดที่สามารถพบได้ในเขตประเทศไทย ซึ่งการที่มีนกเงือกดำอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง ทำให้บรรดานักส่องนกตามธรรมชาติ ให้ความนิยมมาเฝ้าสังเกตนกหายากชนิดนี้อยู่เป็นประจำ

ในบริเวณริมแม่น้ำของประเทศมาเลเซียมีการพบนกเงือกดำเป็นจำนวนมาก แต่ในประเทศไทยนั้น นกเงือกดำถือเป็นนกที่หาได้ยาก ในปี 2546 ได้ปรากฎภาพนกเงือกดำที่บริเวณป่าพรุโต๊ะแดง ทำให้นักสำรวจเข้าทำการสำรวจบริเวณ เพื่อตามหานกเงือกดำ โดยในปี 2547 โครงการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก ของ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ พร้อมกับ คุณปรีดา เทียนส่งรัศมี เข้าร่วมสำรวจพื้นที่ โดยมีรายงานการสำรวจพบนกเงือกดำ 1 ตัว และ นกเงือกปากดำ 1 ตัว และยังสำรวจพบโพรงที่อยู่อาศัยของนกเงือกดำ 1 โพรง


“อีกหลายปีต่อมา ผมได้ติดตามพี่ปรีดาเข้าไปดูโพรงรัง โดยเราเดินเท้า ย่ำน้ำ เข้าไปในป่าพรุที่เต็มไปด้วยหนามของต้นหลุมพี ที่แสนเจ็บปวดยามเมื่อมันฝังลงไปในเนื้อ”

“ครั้งนั้นเราใช้เวลานานมากกว่าจะไปถึงโพรงรัง เพราะทางเดินเข้าไปนั้นค่อนข้างยากลำบากและเต็มไปด้วยยุง ซึ่งในพื้นที่นี้ มีครบทั้งไข้เลือดออก มาราเลียและโรคเท้าช้าง” 

“การเข้ามานั้นเพื่อวางแผนถ่ายภาพนกที่โพรงรัง ซึ่งต้องทำแพลตฟอร์มยกขึ้นมาเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องแช่น้ำ และต้องมีมุ้งเพื่อปกป้องเราจากยุง โดยต้องทำก่อนที่นกจะมาเลือกใช้โพรงรัง  สิ่งที่น่าแปลกคือ นกเงือกดำเลือกใช้ป่าพรุเป็นพื้นที่ทำรัง เพราะต้นไม้ในพรุที่มีขนาดใหญ่นั้นมีไม่มาก แต่นี่อาจเป็นการเลี่ยงการแก่งแย่งโพรงรังกับนกเงือกชนิดอื่น ๆ”

โดยในปี 2562 คณะนักสำรวจได้ทดลองนำโพรงรังเทียม เข้าไปติดตั้ง เพื่อเป็นทางเลือกให้นกเงือกดำ โดยเลือกติดในบริเวณที่มีการสำรวจพบว่านกเงือกดำบินผ่าน เพื่อทำการวิจัยถึงพฤติกรรมของนกเงือกดำ ถึงการลักษณะการเลือกโพรงรัง การเลือกขนาดของโพรงรัง และนำข้อมูลจากการสำรวจไปพัฒนาโครงการโพรงรังเทียมให้เหมาะกับนกเงือกดำต่อไป

จากการถ่ายภาพมุมสูงของป่าพรุโต๊ะแดง พบว่าบริเวณป่าพรุโต๊ะแดงมีลักษณะเป็นผืนป่าที่กว้างขวางถึง 123,006 ไร่ ในพื้นที่ของไร่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโกลกและอำเภอสุไหงปาดี ในเขตจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีความหลากหลายของพืชพันธุ์กว่า 400 ชนิด ที่ดำรงชีวิตด้วยการหยั่งรากลงไปใต้น้ำ

การเดินทางเข้าไปสำรวจในพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงนั้น สามารถพายเรือขนาดเล็ก หรือ เรือคายัค เข้าไปได้ถึงบริเวณใจกลางของป่าพรุ นอกจากนั้น ป่าพรุโต๊ะแดง ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่มีเส้นทางเดินผ่านส่วนนิทรรศการให้ความรู้ ที่จัดแสดงเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับป่าพรุและพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่พบในบริเวณ จากนั้นเป็นเส้นทางเดินเท้าเป็นสะพานไม้ โดยบริเวณตอนต้นจะมีลักษณะเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยบัวหลากหลายชนิด ซึ่งสะพานไม้จะทอดยาวไปจนถึงบริเวณป่าพรุ โดยมีป้ายแสดงความรู้ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยผู้ที่สนใจเข้าศึกษา สามารถติดต่อได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติ ป่าพรุสิรินธร (พรุโต๊ะแดง) 


“หากมองภาพกว้าง ในผืนป่ายังคงมีความลับมากมาย ยังมีภาพชีวิตที่เราอาจจะไม่เคยเห็นซุกซ่อนอยู่ ภาพของครอบครัวนากใหญ่ที่คอยจับปลา แมลงกลางคืนกรีดปีกส่งเสียงร้อง ภาพแมวป่าหัวแบนออกเดินหากินไปตามรากไม้ ภาพของแมวดาว นกทืดทือมลายู ที่ออกหากินในยามราตรี ภาพของครอบครัวนกเงือกดำที่โบยบินไปในผืนป่ากว้าง”

ป่าพรุเป็นป่าที่เข้าถึงยาก ในอ้อมกอดของป่าเต็มไปด้วยขวากหนาม เป็นผืนป่าที่การสำรวจและการศึกษายังไม่ครอบคลุม ด้วยอุปสรรคในการเดินทาง แต่นั้นก็เป็นส่วนทำให้หลายชนิดพันธุ์ยังคงดำรงอยู่ เพื่อรอการค้นพบต่อไปในอนาคต และผลจะตรงข้ามกัน หากเราไม่ช่วยกันปกปักรักษาผืนป่าแห่งนี้

คัดลอกลิ้งค์เก็บไว้ที่คลิปบอร์ดแล้ว

บทความยอดนิยม
Land’s of Tomorrow

 

STAY ON BOARD

Be the first to hear about the latest news, activity, and the sea community.