Past Present & Tomorrow22 Oct 2021

‘Brownbanded Bamboo Shark’
The Ecological Balance of The Ocean

 
Copied to clipboard.

ชวนมาทำความรู้จักกับ ‘ฉลามกบ’ ผู้รักษาสมดุลระบบนิเวศของอ่าวไทย

ด้วยสถานการณ์ฉลามที่ลดลงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อันเกิดจากการถูกคุกคามด้วยหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการประมงที่มักถูกจับโดยไม่ได้ตั้งใจ วันนี้เราขอชวนคุณมาทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีการอนุรักษ์ฉลามอีกหนึ่งชนิดที่ไม่เป็นอันตรายกับคนอย่างฉลามกบผู้ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศของทรัพยากรทางทะเลได้เป็นอย่างดี


‘ฉลามกบฉลามขนาดเล็กที่มีลำตัวและครีบหางเรียวยาว ดวงตาขนาดเล็ก มีอวัยวะคล้ายหนวดบริเวณส่วนหน้า ในช่วงวัยเด็กสีแถบขาวสลับดำคาดขวางตามลำตัวและจะค่อย ๆ จางลงเมื่อโตขึ้น มักนอนอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล ซอกหินหรือปะการัง จึงชอบกินอาหารพวกสัตว์น้ำที่อยู่ตามหน้าดิน อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลาขนาดเล็ก โดยมีนิสัยรักสงบ ไม่ดุร้าย ไม่เป็นอันตรายกับคน และเคลื่อนที่เชื่องช้า

นอกจากนี้ยังคอยทำหน้าที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร ด้วยการควบคุมประชากรสัตว์น้ำจำพวกปลาขนาดเล็กและสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณหน้าดิน ด้วยการกำจัดสัตว์น้ำที่ป่วย อ่อนแอ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศในท้องทะเล เพราะเป็นฉลามที่ไม่ดุร้าย หน้าตาน่ารัก เป็นมิตร จึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ชื่นชอบการดำน้ำในอีกทางหนึ่ง

แต่ในปัจจุบันฉลามกบยังคงถูกคุกคามเป็นอย่างมาก ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อาหารตามธรรมชาติของฉลามกบลดลง และส่งผลต่อการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ รวมถึงอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฉลามกบลดลงเป็นอย่างมากนั่นก็คือการทำประมง แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีการทำประมงฉลามโดยตรง แต่ฉลามกบมักถูกจับโดยบังเอิญและไม่ได้ตั้งใจ ด้วยการติดมากับเครื่องมือประมงอวนลากอยู่เสมอ

อย่างที่ทราบกันดีว่า ฉลามกบเป็นทั้งตัวช่วยสำคัญในด้านการควบคุมระบบนิเวศ และเป็นผู้รักษาสมดุลของแนวปะการัง เพราะฉะนั้นการอนุรักษ์ฉลามกบ ควรเริ่มต้นด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของการมีฉลามกบในพื้นที่ รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกให้กับชาวประมงหรือผู้เกี่ยวข้องลดการคุกคามฉลามกบทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ เพื่อให้ฉลามกบสามารถอยู่ในระบบนิเวศต่อไป คอยทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ที่ Marine Discovery Centre โรงแรม SAii Phi Phi Island Village ศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลแห่งแรกบนเกาะพีพี ที่ สิงห์ เอสเตท ตั้งใจสร้างเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทางทะเล มีโซนให้ความรู้ทั้งเรื่อง เกาะพีพี ปลาการ์ตูน และฉลาม โดยเฉพาะในโซนฉลาม เรามีบ่ออนุบาลสำหรับสัตว์ทะเลที่ได้รับบาดเจ็บ เพื่อเป็นพื้นที่พักฟื้น ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ทั้งหมดนี้สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


‘Marine Discovery Centre’ ประกอบไปด้วย 4 โซนหลักด้วยกัน คือ

ห้องฉลาม ภายในห้องมีการจัดแสดงบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้ทางชีววิทยา และนิเวศวิทยาของปลาฉลามพันธุ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีบ่ออนุบาลสัตว์ทะเลที่ได้รับบาดเจ็บ หรือสัตว์ทะเลที่ติดอวนมาดูแลพักฟื้น ก่อนจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ห้องเรียนรู้เกี่ยวกับเกาะพีพี เป็นห้องจัดแสดงที่ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี มีแผนที่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ระบบนิเวศต่าง ๆ รวมถึงจุดดำน้ำและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบริเวณรอบเกาะพีพี ทั้งเกาะไม้ไผ่ เกาะปอดะ อ่าวมาหยา เป็นต้น

ห้องปลาการ์ตูน เป็นห้องจัดแสดงพันธุ์ปลาการ์ตูนชนิดที่พบในประเทศไทย มีบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปลาการ์ตูน ชีววิทยาของปะการัง ความสัมพันธ์ของปลาการ์ตูนกับปะการัง นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการสำหรับการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลาการ์ตูนโดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ห้องออดิทอเรียม ห้องสำหรับการบรรยายความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงเปิดโอกาสให้ใช้เป็นห้องอบรมสำหรับนักเรียนที่มาออกค่ายในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อีกด้วย

ด้วยความที่ สิงห์ เอสเตท เป็นองค์เอกชนที่มีธุรกิจในพื้นที่ติดกับทะเลค่อนข้างมาก การทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบที่เราตั้งใจและใส่ใจอยู่เสมอ

จึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (Phuket Marine Biological Center) ในการดำเนินโครงการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก กลุ่มปลาฉลาม ในพื้นที่ Marine Discovery Centre ทั้งในด้านการศึกษาวิจัย การเพาะฟักไข่ฉลามกบ และการอนุบาลลูกฉลามกบให้เติบโตอย่างสมวัย เพื่อนำลูกฉลามกบกลับคืนสู่ธรรมชาติในช่วงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมตามคำแนะนำทุกขั้นตอนจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน

ถ้าเราอยากเห็นความสวยงามของธรรมชาติไปอีกนาน ๆ หันมาช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ ฉลามกบ มีวิธีง่าย ๆ อย่างการเลิกกินหูฉลาม เนื้อฉลาม ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยให้ประชากรฉลามกบได้อยู่ในระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ การเริ่มต้นด้วยความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญของการมีฉลามกบในท้องทะเลไทย ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนช่วยกันได้ และส่งต่อความยั่งยืนให้กับท้องทะเลได้ในระยะยาว

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.saiiresorts.com/th/phiphiisland/village/play/marine-discovery-centre/

คัดลอกลิ้งค์เก็บไว้ที่คลิปบอร์ดแล้ว

บทความยอดนิยม
Past Present & Tomorrow

 

STAY ON BOARD

Be the first to hear about the latest news, activity, and the sea community.