“ปักษาบินลอยสูงอยู่บนฟากฟ้าเกินกว่าตามนุษย์ธรรมดาจะมองเห็น เธอกินน้ำค้างเป็นอาหาร และมนุษย์จะเจอะเจอกับเธอได้ ก็ต่อเมื่อพวกเธอสิ้นชีพตกลงมาบนผืนโลกเพียงเท่านั้น”
นั่นคือความเชื่อของผู้คนในโลกตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เมื่อซากนกตัวอย่าง (Specimen) ที่มีแต่ขนอันสวยงามถูกส่งมากับเรือสำรวจดินแดนอันไกลโพ้นทางตะวันออก จนมาถึงมือชาวยุโรปเป็นครั้งแรก พร้อมคำอธิบายจากชาวเกาะเครื่องเทศ (Spice Islands) ผู้ไม่เคยเห็นตัวจริงเช่นกัน ขนนกแสนสวยชิ้นนั้นได้มาจากพ่อค้าผู้เดินทางมาจากเกาะที่อยู่ห่างไกลออกไปทางตะวันออก
ชาวเกาะเครื่องเทศเรียกมันว่า Bulong Diwata แปลว่า Birds of Gods ในขณะที่ชาวยุโรปขนานนามตัวอย่างขนนกอันงดงามว่า Bird-of-Paradise ปักษาสวรรค์
ความเชื่อว่านี่คือนกจากสวรรค์ ยังอยู่ในหมู่ชาวยุโรปจนถึงปลายศตวรรษที่ 16 จนกระทั่งตัวอย่างซากนกที่ครบสมบูรณ์ถูกส่งมาถึง อย่างไรก็ดี ยังไม่มีชาวยุโรปคนใดเคยได้เห็นนกปักษาสวรรค์เหล่านี้ในป่า จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 19 ตัวอย่างของซากนกที่สวยงามแตกต่างกันมากมายเหล่านี้ จึงได้รับการตั้งชื่ออย่างเลิศหรูอลังการ เช่น King Bird-of-Paradise, King of Saxony Bird-of-Paradise, Victoria’s Bird-of-Paradise หรือ Emperor Bird-of-Paradise เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในระยะเวลาต่อมา สิ่งที่พอจะเชื่อมต่อปักษาสวรรค์ตัวผู้ที่มีรูปร่างสีสันแตกต่างกันอย่างสุดขั้วเหล่านี้ว่าเป็นนกในกลุ่มเดียวกัน คือความละม้ายคล้ายคลึงของเหล่านกตัวเมียที่มีสีน้ำตาลหม่น ๆ ไร้สีสันอันเร้าใจนั่นเอง
ในปัจจุบันพบว่ามีนกปักษาสวรรค์ 42 ชนิด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในป่าฝนของเกาะนิวกีนีและหมู่เกาะใกล้เคียง รวมถึงนกอีก 4 ชนิดที่พบได้ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย
นกปักษาสวรรค์ตัวผู้วิวัฒนาการรูปร่างและสีสันของขนอันงดงามเพื่อใช้ประกอบเทคนิคในการเต้นรำหลอกล่อตัวเมีย (display) นกกลุ่มนี้ยังหายาก ไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสวนสัตว์ ทำให้ปักษาสวรรค์เป็นที่หมายปองของนักดูนกทั่วโลกที่ต้องการจะเห็นในธรรมชาติให้ได้สักครั้งในชีวิต โดยเฉพาะตอนเต้นรำเย้ายวนตัวเมีย
รูปที่เห็นในที่นี้คือตัวอย่างของนกปักษาสวรรค์ตัวผู้ 2 ชนิด ที่ถือเป็นนกในกลุ่มปักษาสวรรค์ชนิดแรก ๆ ที่ถูกส่งมาถึงยุโรป เนื่องจากเป็นนกที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลของเกาะนิวกีนี จึงสามารถพบเห็นได้ง่ายกว่านกที่อยู่บนเทือกเขาสูงบนเกาะ
ชนิดแรกคือ King Bird-of-Paradise (Cicinnurus regius) จัดเป็นนกที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาปักษาสวรรค์ทั้งหมด (ประมาณ 15-16 ซม.) มีสีแดงโดดเด่น ก้านขนยาวขดเป็นวงสองวงที่หาง นกชนิดนี้จะแสดงลีลาล่อสาวอยู่บนกิ่งไม้ในป่าที่มีใบไม้ปกคลุม โดยการยกปีก พองขน แกว่งก้านขน และกระโดดเต้นระบำไปมา
นกอีกชนิดคือ Twelve-wired Bird-of-Paradise (Seleucidis melanoleucus) สีดำเหลืองมีรูปร่างคล้ายตัวด้วงขนาดใหญ่และมีก้านขนยาวออกมาที่บั้นท้าย 12 เส้น จะใช้เทคนิคเกี้ยวสาวโดยการกระโดดส่ายก้นเต้นไปมาบนตอไม้โดด ๆ ที่ไม่มีอะไรมาบดบัง โดยก้านขนทั้งสิบสองเส้นนั้นยังใช้สำหรับเกลี่ยหน้าตัวเมียที่เข้ามาใกล้ไปมาเพื่อโปรยเสน่ห์ในระหว่างการเต้นโชว์
นกทั้งสองชนิดนี้ รวมทั้งปักษาสวรรค์แทบทุกชนิดมักมีพื้นที่เต้นรำโดยเฉพาะและใช้เป็นประจำ ดังนั้น หากเราเดินทางไปถึงแหล่งที่อาศัย ถือว่าไม่ยากที่จะได้เห็นตัวพวกเธอ เพียงแค่สอบถามกับคนในพื้นที่ที่มักจะทราบว่านกแต่ละชนิดมีพื้นที่ประจำที่จุดไหน ก่อนเข้าไปให้ถึงจุดนั้น ที่เหลือก็คือการเฝ้ารอโอกาสยลความงามของปักษาสวรรค์เริงระบำในป่าฝน
และสวรรค์ก็บันดาลปักษามาเริงระบำต่อหน้า เป็นความทรงจำอันล้ำค่าจากธรรมชาติ จากหมู่เกาะห่างไกลในมหาสมุทร เป็นความงามที่เราอยากให้ดำรงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน นั่นคือเหตุผลสำคัญที่เราต้องช่วยกันรักษาธรรมชาติบนหมู่เกาะไว้ ให้สืบต่อไปนิจนิรันดร์